โครงการส่งเสริมพระปริยัติธรรมแผนกบาลี
โครงการส่งเสริมพระปริยัติธรรมแผนกบาลี (เขตบางขุนเทียน)
๑ วัด ๑ มหาเปรียญ
หน่วยงาน วัดกำแพง แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
ชื่อโครงการ โครงการส่งเสริมพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ( ๑ วัด ๑ มหาเปรียญ )
หน่วยงานที่รับผิดชอบ สำนักศาสนศึกษาวัดกำแพง
ระยะเวลาดำเนินงาน มีนาคม ๒๕๕๙ - กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
ลักษณะโครงการ โครงการต่อเนื่อง
๑. หลักการและเหตุผล
จำเดิมแต่กาลก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้มีพระดำรัสตรัสกับพระอานนท์เถระ มีเนื้อความปรากฏในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตรว่า " โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา" แปลว่า "ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลที่เราล่วงลับไป" ธรรมและวินัยที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้แล้วนั้น ได้รับการจดจารึกลงในพระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม ด้วยภาษาที่เรียกว่า ภาษาบาลี อันมีความหมายว่า ภาษาที่รักษาไว้ซึ่งพระพุทธวจนะ เมื่อพระไตรปิฏกยังคงอยู่ ย่อมหมายถึงการธำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นตัวแทนของพระศาสดา การศึกษาพระไตรปิฏกจึงเป็นการศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อให้เข้าถึงคำสอนของพระพุทธองค์ และสามารถนำไปปฏิบัติตนให้พ้นจากความทุกข์อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตตามนัยแห่งพระพุทธศาสนาสืบไป
พระไตรปิฎกมีจุดเริ่มต้นมาจากการจัดรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้า ออกเป็นหมวดหมู่ และซักซ้อมทบทวนกันจนลงตัว ในระยะแรก พระไตรปิฎกถ่ายทอดต่อกันมาโดยการท่องจำปากเปล่า จนกระทั่งราว พ.ศ. ๔๖๐ จึงมีการจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาสืบทอดมาพร้อมกับพระไตรปิฎก จากสมัยพุทธกาลจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า ๒,๕๐๐ ปี และพระไตรปิฎกบาลีของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เก่าแก่ที่สุด ดั้งเดิมที่สุด สมบูรณ์ที่สุด และถูกต้องแม่นยำที่สุด ที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน
การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีจัดว่าเป็นการศึกษาที่มุ่งตรงไปยังคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ยังคงอยู่ในรูปแบบดั้งเดิมที่สุด เพื่อป้องกันความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากการแปลตีความตามชอบใจ และเป็นการรักษาคำสอนของพระพุทธองค์ไว้ด้วยวิธีการที่เข้มแข็งที่สุด ปริยัติจึงเปรียบเสมือนรากแก้ว ปฏิบัติเปรียบเสมือนลำต้น กิ่งก้านสาขา ปฏิเวธเปรียบเสมือนดอกผล ตราบใดที่ยังมีปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียนอยู่ ปฏิบัติก็ยังมีได้ และปฏิเวธก็จะเกิดขึ้นได้ หากปริยัติเสื่อมลงเมื่อใด การปฏิบัติก็จะผิดพลาดคลาดเคลื่อน ปฏิเวธก็จะเสื่อมหายไป
ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีก็คือ การที่มีกุลบุตรผู้สนใจในการศึกษาภาษาบาลีในเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร แต่ทางวัดไม่สามารถจัดการเรียนการสอนให้ได้ เพราะประสบปัญหาด้านการขาดแคลนครูสอน ขาดแคลนสถานที่เรียน และขาดแคลนงบประมาณในการจัดการศึกษา ส่งผลให้นักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีลดลงเป็นอันมาก อันจะส่งผลต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาโดยรวมเป็นอย่างยิ่ง พระครูพิศาลปริยัตยานุกูล ( อนันต์ วฑฺฒโน ป.ธ.๔ ) เจ้าคณะแขวงแสมดำ เจ้าอาวาสวัดกำแพง ได้รับมอบหมายจากเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ให้เปิดศาสนศึกษาแผนกบาลีในเขตบางขุนเทียน และได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวมา โดยอาศัยความที่วัดกำแพง มีความพร้อมในทุกด้าน จึงขอความร่วมมือจากเจ้าอาวาสทุกวัดในเขตบางขุนเทียน มีทั้งหมด ๑๑ วัด ๑ สำนักสงฆ์ มีดังนี้ ๑.วัดกำแพง ๒.วัดเลา ๓.วัดแสมดำ ๔.วัดธรรมคุณาราม ๕.วัดหัวกระบือ ๖.วัดปทีปพลีผล ๗.วัดประชาบำรุง ๘.วัดบัวผัน ๙.วัดสะแกงาม ๑๐.วัดบางกระดี่ ๑๑.วัดสุธรรมวดี และสำนักสงฆ์แทนวันดีเจริญสุข ให้พิจารณาคัดเลือกพระภิกษุ-สามเณร ผู้มีความสนใจในการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี มาศึกษาภาษาบาลีที่วัดกำแพง จนกระทั่งสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการ ๑ วัด ๑ มหาเปรียญ โดยกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นดังนี้คือ มีวิทยฐานะทางธรรม ได้นักธรรมชั้นตรีเป็นอย่างน้อย มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ทุพลภาพ สามารถทำศาสนกิจได้เป็นปกติ มีความตั้งใจจริงในการศึกษาภาษาบาลี โดยทางศาสนศึกษาวัดกำแพงจะเป็นผู้อุปถัมภ์การเป็นอยู่ด้วยปัจจัย ๔ ให้ตามสมควรแก่สมณวิสัย และเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสืบต่อไปจนกว่าจะจบโครงการ
๒. วัตถุประสงค์
๑. เพื่อส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี และรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคง
๒. เพื่อพัฒนาคุณภาพพระภิกษุ-สามเณร ในเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
๓. เป้าหมาย
พระภิกษุ-สามเณร มีวิทยฐานะอย่างน้อย นักธรรมชั้นตรี ๓๐ รูป เมื่อจบโครงการแล้วต้องเป็นเปรียญธรรมอย่างน้อย ๓ ประโยค
๔. พื้นที่ดำเนินงาน
วัดกำแพง แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
๕. วิธีดำเนินการ
๑. เจ้าคณะอำเภอรับทราบ และคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติและมีความตั้งใจจริง
๒. ดำเนินการจัดส่งนักเรียนเข้าประจำยังศาสนศึกษาวัดกำแพงสิ้นเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙
๓. ศาสนศึกษาวัดกำแพงจัดเข้าทะเบียนรายชื่อนักเรียนของศาสนศึกษาวัดกำแพง
๔. ปฐมนิเทศการเรียนการสอน วันจันทร์ที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๙ และเปิดการเรียนการสอนในวันจันทร์ที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๙ ตามหลักสูตรบาลีไวยกรณ์
๕. จัดสอบวัดผลเพื่อจัดระบบการเรียนการสอนในชั้นแปลให้เหมาะกับความสามารถของผู้เรียน
๖. เรียนสัปดาห์ละ ๕ วัน เว้นวันพระและวันอาทิตย์ วันละ ๒ เวลา ๆ ละ ๓ ชั่วโมง รวมสัปดาห์ละ ๓๐ ชั่งโมง เดือนละ ๙๐ ชั่วโมง
๗. ก่อนสอบบาลีสนามหลวง ๑ เดือน ทางสำนักเรียนจัดอบรมกวดวิชาให้แก่นักเรียนวันละ ๓ เวลา ๆ ละ ๒ ชั่วโมง รวมวันละ ๖ ชั่วโมง ทุกวันตลอดเดือน หยุดเพียงวันธัมมัสสวนะ และประชุมลงฟังพระปาฏิโมกข์ในวันอุโบสถเท่านั้น
๘. เมื่อถึงวันสอบทางสำนักเรียนจัดค่าพาหนะถวายรูปละ ๕๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าพาหนะในการเดินทางไปสอบ ๒-๓ วัน
๙. นักเรียนที่ผ่านการสอบบาลีสนามหลวงในแต่ละปี ทางสำนักเรียนจะถวายรางวัลเป็นกัปปิยภัณฑ์จำนวนหนึ่งแก่นักเรียนที่สอบได้เพื่อเป็นกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนสืบไป
๖. ระยะเวลาดำเนินการ
ระยะเวลาในการศึกษาเริ่มตั้งแต่เดือน เมษายน ปี ๒๕๕๙ สิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ รวม ๒๔ เดือน เมื่อนักเรียนเข้าศึกษาในสำนักเรียนตั้งแต่ชั้นต้นคือบาลีไวยกรณ์แล้ว สอบเปรียญธรรม ๓ ประโยคได้ จึงจะบรรลุผลตามเป้าหมายของโครงการ ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อยที่สุด ๒ ปี
๗. งบประมาณ
รายละเอียดงบประมาณในการดำเนินการโครงการมีดังนี้
๑. ถวายผ้าไตรจีวรรูปละ ๑ ไตร ๆ ละ ๑,๐๐๐ บาท ๓๐ รูป เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท
๒. ค่านำ้ปานะทุกวัน ๆ ละ ๑,๐๐๐ บาท ตลอดปี เป็นเงิน ๓๖๐,๐๐๐ บาท
๓. ค่านิตยภัตครูสอน ๒ รูป ๆ ละ ๘,๐๐๐ บาท รวม ๑๑ เดือน เป็นเงิน ๑๗๖,๐๐๐ บาท
๔. ค่าหนังสือตำราเรียนและอุปกรณ์ในการเรียนโดยประมาณ ปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท
๕. ค่ารักษาพยาบาลภิกษุ-สามเณรอาพาธ ปีละ ๑๐,๐๐๐ บาท
๖. ค่าพาหนะในการเดินทางไปสอบรูปละ ๕๐๐ บาท ๓๐ รูป เป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท
๗. ค่าพาหนะพระอาจารย์มาสอน ๑ รูป ๆ ละ ๔๐๐ บาท ตลอดปี เป็นเงิน ๙๖,๐๐๐ บาท
๘. รางวัลสำหรับนักเรียนผู้สอบได้ ประโยค ๑-๒ รูปละ ๒,๐๐๐ บาท ๓๐ รูป เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท
รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๘๔๗,๐๐๐ บาท (แปดแสนสี่หมื่นเจ็ดพันบาทถ้วน)
๘. ผู้รับผิดชอบโครงการ
๑. พระครูพิศาลปริยัตยานุกูล เจ้าคณะแขวงแสมดำ เจ้าอาวาสและเจ้าสำนักศาสนศึกษาวัดกำแพง
๒. คณาจารย์ศาสนศึกษาวัดกำแพงและวัดเศวตฉัตร
๓. ผู้ดำเนินโครงการ พระมหาพีระพล ฐานจาโร เลขานุการเจ้าอาวาสวัดกำแพง
๙. ประโยชน์ที่จะได้รับ
๑. ทำให้การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีกว้างขวางยิ่งขึ้น
๒. ได้พัฒนาคุณภาพของพระภิกษุสามเณรในเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
๓. พระพุทธศาสนามีความมั่นคงยิ่งขึ้น